หลักสูตร

ระดับปริญญาโท วารสารศาสตรมหาบัณฑิต (การบริหารสื่อและเนื้อหา) (MCA) (ภาคพิเศษ)

เน้นการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ นำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานและบูรณาการองค์ความรู้ให้เข้ากับเทคโนโลยีสื่อ มีความคิดทันสมัย และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ให้สอดคล้องกับการปรับตัวในยุค Digital Disruption เหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานในองค์กรสื่อ และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องหรือต้องประสานงานกับสื่อ

ชื่อปริญญาและสาขาวิชา

     ภาษาไทย ชื่อเต็ม : วารสารศาสตรมหาบัณฑิต (การบริหารสื่อและเนื้อหา)

     ชื่อย่อ : ว.ม. (การบริหารสื่อและเนื้อหา)

     ภาษาอังกฤษ ชื่อเต็ม : Master of Arts (Media and Content Administration)

     ชื่อย่อ : M.A. (Media and Content Administration)

ปรัชญาของหลักสูตร

     คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทในลักษณะสหสาขาวิชา (Interdisciplinary) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถและสอดคล้องกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การเปลี่ยนฉับพลันทางดิจิทัล (Digital Disruption) ได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมสื่อทำให้องค์กรสื่อมีความจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และปรับตัวมาผลิตเนื้อหาเพื่อเผยแพร่ทางแพลตฟอร์มที่มีความแปลกใหม่มากยิ่งขึ้น

     ดังนั้นคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ซึ่งพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาโทที่บูรณาการศาสตร์ทางการสื่อสารกับการบริหารจัดการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ในปี 2541 จึงได้ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ โดยเน้นให้หลักสูตรสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มทิศทางของสื่อในอนาคต รวมทั้งเน้นการผลิตมหาบัณฑิตที่สามารถปรับตัวพร้อมปฏิบัติหน้าที่และบูรณาการองค์ความรู้ให้เข้ากับเทคโนโลยีสื่อ มีความคิดทันสมัย และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นอกจากนั้นนี้ยังสามารถคิดวิเคราะห์และบูรณาการองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติได้อีกด้วย

ความสำคัญ

     ในสถานการณ์ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) ส่งผลอย่างมากต่อองค์กรสื่อและบุคลากรสายวิชาชีพสื่อ เนื่องจากสื่อมีรูปแบบแพลตฟอร์ม (Platform) ที่มีความหลากหลายมากขึ้น มีช่องทางการเข้าถึงที่สะดวกและรวดเร็ว โดยส่งผลทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากเดิมที่เคยมีรูปแบบการใช้ชีวิตโดยการรับสื่อดั้งเดิม คือ การนิยมดูโทรทัศน์ในช่วงเวลายามว่าง การอ่านหนังสือพิมพ์เพื่อรับข้อมูลข่าวสาร และการไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ กลายเป็นผู้บริโภคหันไปใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากขึ้น แสวงหาข้อมูลข่าวสารและหาความบันเทิงผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้สื่อใหม่มีบทบาทเข้ามาแทนที่สื่อเดิม รวมทั้งเกิดช่องทางการสื่อสารแบบใหม่ ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกในการรับรู้ข่าวสารและความบันเทิงให้กับผู้บริโภคสื่อ อย่างไรก็ตาม การส่งผลต่อองค์กรสื่ออย่างรุนแรงนั้น ทำให้องค์กรสื่อต้องปรับตัวตามวิถีชีวิตของผู้บริโภค และทำให้เกิดการเปลี่ยนฉับพลัน (Disruption) ของธุรกิจสื่อเดิมจนมีองค์กรสื่อจำนวนมากประสบปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่องและต้องปิดกิจการไป

     ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสื่อ ยังทำให้การวัดผลตอบรับจากการบริโภคสื่อในเปลี่ยนรูปแบบไป เนื่องจากการมีช่องทางในการสะท้อนความรู้สึก และความคิดเห็นของผู้บริโภคสื่อ นอกเหนือจากวัดความนิยมรายการ (Rating) ในรูปแบบเดิม คือ การติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ยอดผู้เข้าชม กระแสสังคมในโลกออนไลน์การบอกเล่าเรื่องราว การแสดงความคิดเห็น การแบ่งปันข้อมูล การกดถูกใจ รวมทั้งการกดติดตามเพื่อรับข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง

     จากสภาพการณ์เช่นนี้ ทำให้องค์กรสื่อจะต้องปรับตัวเพื่อความสำเร็จและสร้างผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคสื่อ โดยจำเป็นต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ แผนธุรกิจ และแผนการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีการบูรณาการข้ามสื่อ เนื่องจากเมื่อเทคโนโลยีสื่อมีการพัฒนาไป ส่งผลต่อความรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้สื่อเดิมต้องมีการปรับตัวอย่างหนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการผลิตที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าสื่อออนไลน์ และขั้นตอนที่ซับซ้อน เช่น สื่อหนังสือพิมพ์ที่ต้องมีกระบวนการบรรณาธิการ การพิมพ์และการขนส่งซึ่งทำให้ไม่สามารถเสนอข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว และทันท่วงที จึงต้องมีการปรับรูปแบบใหม่โดยการบูรณาการข้ามสื่อ เช่น กรณีหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่มีเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ และช่องไทยรัฐทีวี โดยมีกลยุทธ์การเล่าเรื่องข้ามสื่อ (Cross Media Storytelling) เพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาในยุคหลอมรวมสื่อ นอกจากนี้การผลิตสื่อเพื่อส่งออกไปยังระดับนานาชาติก็นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ส าคัญซึ่งปัจจุบันมีช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคในระดับนานาชาติได้สะดวกและง่ายดายมากขึ้น เช่น การทำข้อความบรรยาย (Subtitle) ใต้คลิปวีดิโอ หรือการร่วมมือกับผู้ผลิตสื่อเจ้าอื่น เพื่อยกระดับสู่การเป็นเจ้าของเนื้อหาและร่วมลงทุนกับบริษัทหรือสตูดิโอระดับโลกหรือการเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสื่อระดับโลก (Global Media Industry)

     จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่องค์กรสื่อต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อความอยู่รอดขององค์กรนั้น บุคลากรเป็นอีกสิ่งที่สำคัญในการปรับตัวในปัจจุบันและอนาคต แต่ในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดบุคลากรที่มีองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับแนวทางการบริหารสื่อและเนื้อหาที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจสื่อที่มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ 

     คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรปริญญาโทสาขาวิชาการบริหารสื่อและเนื้อหาขึ้นมา เพื่อพัฒนาบุคลากรในองค์กรสื่อให้มีความรู้และความเข้าใจใน ภูมิทัศน์ สื่อและระบบนิเวศธุรกิจสื่ออย่างถ่องแท้ มีพื้นฐานการวิจัยสำหรับนักบริหารสื่อ และสามารถสร้างกลยุทธ์การบริหารธุรกิจสื่อที่สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมุ่งเน้นการสร้างภาวะผู้นำให้กับผู้บริหารสื่อ และเสริมสร้างการคิดสร้างสรรค์ผนวกกับการคิดเชิงธุรกิจ รวมทั้งสามารถคิดวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์สื่อในปัจจุบันในบริบทของสังคมทั้งในประเทศและระดับนานาชาติได้ด้วย

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

     เพื่อให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรมีลักษณะดังนี้

     1) มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถบูรณาการแนวคิดและหลักการจัดการองค์กรสื่อการจัดการเนื้อหา การจัดการการผลิตสื่อ และการจัดการการสื่อสารองค์กรสื่อ ซึ่งสอดรับกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันได้

     2) มีศักยภาพในการเป็นผู้บริหารตั้งแต่ระดับกลางจนถึงระดับสูงในองค์กรสื่อ หรือสามารถประกอบธุรกิจสื่อในลักษณะที่เป็น Startup ได้

     3) มีความคิดสร้างสรรค์และวิสัยทัศน์กว้างไกลในการทำงานด้านสื่อ เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับวิชาชีพสื่อให้มากยิ่งขึ้น

     4) มีความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพ รวมถึงมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างและพัฒนาวิชาชีพสื่อให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและระดับสากล

ระบบการจัดการศึกษา

     ใช้ระบบการศึกษาแบบไตรภาค โดยหนึ่งปีการศึกษา แบ่งเป็น 3 ภาคการศึกษาปกติในหนึ่งภาคการศึกษาปกติ มีระยะเวลาการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 สัปดาห์ และไม่เกิน 14 สัปดาห์ 

วัน-เวลาในการดำเนินการเรียนการสอน

     เรียนวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00 น. ถึง 16.00 น.

     ภาคการศึกษาที่ 1 เดือนสิงหาคม-เดือนพฤศจิกายน

     ภาคการศึกษาที่ 2 เดือนธันวาคม-เดือนมีนาคม

     ภาคการศึกษาที่ 3 เดือนเมษายน-เดือนกรกฎาคม

หลักสูตรเหมาะสำหรับ

     ผู้ทำงานในองค์กรสื่อ หรือผู้ผลิตคอนเทนต์ รวมทั้งผู้ที่สนใจทำงานในวงการสื่อ หรือต้องการเรียนรู้กลยุทธ์การทำคอนเทนต์ผ่านสื่อต่าง ๆ 

วิชาที่น่าสนใจในหลักสูตร

     -การกำกับดูแลและความเป็นมืออาชีพของสื่อ
     -การออกแบบสารและการจัดการเนื้อหา
     -กระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่ออุตสาหกรรมสื่อ
     -ความเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์

ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร     230,000 บาท

 

หลักสูตรทั้งหมด